วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

อิทธิพลของสื่อเทคโนโลยีมีผลต่อการสื่อสารและการศึกษาอย่างไร







               Education ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Educare แปลว่า บำรุง เลี้ยง อบรม รักษา ทำให้งอกงาม หรืออีกนัยหนึ่ง Educare หมายถึง การอบรมเด็กทั้ง ทางกายและทางสมอง ส่วนคำว่าการศึกษาในภาษาไทยนั้น เป็นคำมาจากภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่า สิกขา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า การเล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม ส่วนจอห์น ดิวอี้ (John Dewey. 1961 : 112) ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้ดังนี้
1.การศึกษา คือชีวิต ไม่ใช่การเตรียมตัวเพื่อชีวิต
2.การศึกษา คือความเจริญงอกงาม
3.การศึกษา คือกระบวนการทางสังคม
4. การศึกษา คือ การสร้างประสบการณ์แก่ชีวิต

               ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการศึกษา คือกระบวนการทางสังคมที่เสริมสร้างเด็ก  เยาวชน และบุคคลให้มีประสบการณ์โดยการฝึกฝนเล่าเรียน ในสมัยก่อนการเรียนการสอน อาจจะไม่มีความซับซ้อนมากนักเนื่องจากเนื้อหาในรายวิชาต่างๆไม่มากมายอย่างเช่นในปัจจุบัน  การถ่ายทอดความรู้สู่ตัวผู้เรียนส่วนใหญ่มาจากผู้สอนโดยตรง หรือจากการค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือ ตำราจากห้องสมุด ครูผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้  ผู้เรียนจึงรับความรู้ต่างโดยการป้อนจากผู้สอนโดยตรงจึงเกิดเป็นวัฏจักรการเรียน เพื่อจำ  จำเพื่อสอบ  สอบเพื่อจบ จบแล้วลืม ผลลัพธ์สุดท้ายของการเรียนคือ  “นักเรียน เรียนไปเพื่อ ?”  เพราะผู้เรียนไม่ถูกสอนให้รู้จักการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหาโดยใช้เหตุผล และประสบการณ์ที่ผู้เรียนมีในการแก้ปัญหา ผู้เรียนถูกสอนมาให้เรียนให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้ทำข้อสอบให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้เกรด 4 เมื่อมีการประเมินผล  แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆทำให้ผู้เรียน  และทุกๆคนสามารถเข้าถึงฐานความรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะห่างไกลซักแค่ไหนเพียงใช้อินเตอร์เน็ต ทุกสิ่งที่คุณอยากรู้ก็จะมาอยู่ตรงหน้า   ดังนั้นเมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในสังคม  ทำให้แนวโน้มในการจัดการศึกษาในยุคใหม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงได้มีการวางเป้าหมายในการศึกษา ว่า "ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 คือการเรียนรู้แบบ 3Rx7C หมายถึงการที่คนทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย และตลอดชีวิต" (วิจารณ์ พานิช. 2555 : 38)



21st Century Learning Framework
 21st Century Knowledge-and-Skills Rainbow


(http://www.schoollibrarymonthly.com/article/img/Trilling-Figure1.jpg)



การเรียนรู้แบบ 3Rx7C

 3
R ได้แก่
    -  Reading (อ่านออก) 
    -  (W)Riting (เขียนได้) 
    -  (A)Rithmetics (คิดเลขเป็น)

7
C ได้แก่
    -  
Critical thinking & problem solving 
(ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการแก้ปัญหา)
    -  Creativity & innovation (ทักษะการสร้างสรรค์และนวัตกรรม)
    -  
Cross-cultural understanding (ทักษะการเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
    -  
Collaboration,teamwork & leadership (ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ)
    -  
Communications,information & media literacy (ทักษะการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ)
    -  
Computing & ICT literacy (ทักษะความพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
    -  
Career & learning skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)
(วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21 วิจารณ์ พานิช)


  

                จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังที่กล่าวมาทำให้การศึกษาในยุคปัจจุบันมีการนำคอมพิวเตอร์และเครื่องมือต่างๆไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โปรแกรมต่าง  สื่อ  นวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ๆ มาช่วยทำให้ผู้เรียนถูกกระตุ้นความต้องการอยากเรียนรู้ โดยกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์  การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเข้าถึงแหล่งข้อมูล ฐานความรู้ที่มากมาย เราจะเห็นได้จาการที่สถานศึกษาหลายแห่งนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการเรียนการสอน  เช่น Blogger, Facebook, Edmodo, Google App หรือ Youtube  มาช่วยในการสอนมากขึ้น สังเกตได้จาก เมื่อครั้งที่ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดการเรียนการสอนทำให้เรียนไม่ทัน นวัตกรรมดังกล่าวสามารถช่วยเติมเต็มการเรียนการสอนให้สมบูรณ์มากขึ้นแม้จะมีปัญหาในการที่ไม่มีการเรียนการสอนในห้องเรียนตามปกติ



    
               ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นปัจจัยทางบวกจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่อการศึกษาแต่อย่างที่เราทราบกันดีเมื่อมีปัจจัยทางบวกก็ย่อมมีปัจจัยทางลบ ซึ่งได้แก่การที่ผู้เรียนสามารถพบสื่อจากเทคโนโลยีต่างมากมายทั้งที่มีประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนและเกิดโทษกับผู้เรียนเช่นทำให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมทีไม่เหมาะสม  การใช้ภาษาที่ผิด ปัญหาเด็กติดเกมส์   ปัญหาการล่อลวงต่างๆผ่านทางสังคมออนไลน์ตามที่มักจะอ่านเจอทางสื่อต่างๆ   เด็กมีโลกส่วนตัวของตน ขาดปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ทุกคนจะรู้จักเค้าผ่านทางสังคมออนไลน์   ทำให้เกิดปัญหาสังคมก้มหน้าใน ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้การศึกษาเกิดความล้มเหลว ดังนั้นก็คงกลับมาที่วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว ครูถือผู้ที่เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหานี้เพราะในปัจจุบันครูไม่ใช่แค่ผู้ถ่ายทอดความรู้ เพราะผู้เรียนสามารถเสาะแสวงหาความรู้ได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ครูจะต้องเติมเต็มให้ผู้เรียนรู้จัก ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งกาย  ทางจิตใจ  รู้จักหาความรู้จากฐานความรู้ต่างๆ รู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหา โดยใช้แหล่งข้อมูลต่างๆรวมกับประสบการณ์ที่ตนมีอย่างมีเหตุผลเพื่อให้ผู้เรียนดำรงชีวิตในสังคมได้ตามปกติสุข




Reference

http://chaianan1.wikispaces.com    สืบค้นเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 57
http://www.preeyadaedu.com/?p=650  สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 57
http://jularatbureerat.blogspot.com/2012/07/blog-post_20.html  สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 57
http://www.oknation.net/blog/aroundthecorner/2013/05/11/entry-1 สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 57

บรรณานุกรม
วิจารณ์ พานิช.  (2555).  วิถึการสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21.กรุงเทพฯ:  ตถาตา 
           พับลิเคชั่น.  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น